การเดินทางเกือบทั้งหมดในชีวิตวัยเด็กของผมคือการนั่งรถยนต์ที่วิ่งไปบนถนนลัดเลาะไปตามแนวเขาและแม่น้ำ หลายๆครั้งที่ถูกบอกว่าจุดหมายปลายทางแท้จริงแล้วอยู่ใกล้ๆ คืออีกฝากหนึ่งของภูเขา อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบ หรือแม่น้ำ แต่การเดินทางที่เกิดขึ้นจริงกลับใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าความรู้สึกที่ได้รับจากข้อมูลที่ทราบ อีกฝากหนึ่งของภูเขาแต่กลับต้องขับรถลัดเลาะวนไปมาไต่ขึ้นลงไปตามแนวเขา อีกฝั้งหนึ่งของทะเลสาบแต่ต้องขับเลียบเคียงไปตามขอบทะเลสาบ หรืออีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแต่กลับต้องขับอ้อมไปหลายกิโลเพื่อหาสะพานทางข้าม

P1_9(Detour_route)

ภาพการเดินทางทางอากาศที่ผุดมาในความคิดผมในเวลานั้นคือ ถ้าเราลอยอยู่สูงเหนือสิ่งกีดขวางเหล่านี้ เราก็จะสามารถตรงไปยังจุดหมายของเราได้อย่างง่ายดาย (ตอนเด็กๆนั้นอาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเร็วเท่าไหร่เพราะคิดแค่ว่าขอให้ถนนมันตรงๆเข้าไว้ เหยียบมิดก็ไปถึงเร็วเหมือนกัน) นั่นคือภาพความคิดของการเดินทางไหนอากาศ อยากไปที่ไหน เล็งแม่นๆแล้วตัดตรงไปเลย แอบเชื่อว่าการขับเครื่องบิน นักบินก็ทำแบบนั้น เล็งๆไปยังจุดหมาย แล้วบินตรงไป

พอเริ่มทำงานด้านการบิน สิ่งที่ได้รับรู้กลับไม่เป็นอย่างที่เคยจินตนาการไว้ จิตนาการในวัยเด็กอาจจะไม่ผิดซะที่เดียวแต่ก็ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะในโลกของการบินจริงมันมีรายละเอียดมากกว่านั้นครับ

บนบกมีถนน ในอากาศก็มีถนน รถต้องวิ่งไปตามถนน เครื่องบินก็เช่นกันโดยเฉพาะการบินในเชิงพานิชย์ ต้องบินไปตามถนนสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นในอากาศซึ่งเรียกว่าแอร์เวย์ (Airways)

P1_3(Airways)

เพื่อไปยังจุดหมายที่ต้องการ ไม่ใช่การเล็งตรงอย่างที่เข้าใจ เพราะเมื่ออยู่บนท้องฟ้าแท้จริงแล้วเราไม่สามารถมองเห็นจุดหมายที่เราต้องการบินไปเสมอไป

P1_4(Sky_CoverdByCloud)

ถึงแม้ว่าในยุคเริ่มแรกของการบิน เราจะเริ่มทำการบินโดยอาศัยภูมิประเทศในการอ้างอิงตำแหน่ง (Pilotage) แต่การบินลักษณะดังกล่าวก็ถูกจำกัด โดยเฉพาะจากลักษณะสภาพอากาศ ในยุคต่อมาเราเริ่มใช้เครื่องมือง่ายๆในการนำทาง เช่นเข็มทิศ และอาศัยการคำนวณง่ายๆประกอบเพื่อระบุตำแหน่งของตัวเอง (dead-reckoning) แต่ก็ยังขาดซึ่งความแม่นยำ ในปี 1927 Charles Lindbergh ทำการบินเดี่ยวข้าม Atlantic ด้วยเครื่องบินแบบ Spirit of St. Louis การบินของเค้ามีเพียงเข็มทิศและการคำนวนตามวิธีการแบบ dead-reckoning เค้าใช้เวลา 33 ชั่วโมงครึ่งในการบินไปถึงฝั่งยุโรปโดยผิดพลาดจากเส้นทางที่วางแผนไว้เพียง 3 ไมล์ แต่คงจะดูตลกไม่น้อยถ้าการบินเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันจะผิดพลาดมากเช่นนั้น จากยุคนั้นการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาเครื่องมือช่วยในการเดินอากาศชนิดต่างๆขึ้นเพื่อให้การบินมีความแม่นยำปลอดภัย และลดข้อจำกัดต่างๆ

ทำไมเราต้องมีถนนบนท้องฟ้า? ก็เพื่อช่วยในการเดินอากาศ (Navigation) ถ้าเรารู้ว่าถนนเส้นนี้พาเราไประยอง เช่นเดียวกันการเดินทางตามแอร์เวย์ (Airways) แต่ละเส้นก็จะนำทางผู้บินไปถึงยังจุดหมายที่ต้องการ ในยุคปัจจุบันที่ท้องฟ้าไม่ได้มีเครื่องบินเพียงหนึ่งหรือสองลำ แอร์เวย์ก็จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการจัดการ การจราจรในอากาศให้เป็นระเบียบและปลอดภัย ไม่ใช่ใครคิดจะไปทางไหนก็ไปได้อย่างที่เข้าใจแล้วละครับ เรามีถนน One-way บนฟ้าก็มีเหมือนกัน เราต้องขับรถไปยังจุดกลับรถไกล บนฟ้าก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันครับ เราต้องขับลัดเลาะชายฝั่งเชื่อหรือไม่บนฟ้าก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงอยู่ด้วยเหมือนกันครับ

การบินตามแอร์เวย์ซึ่งผมจะเรียกต่อจากนี้ว่าเส้นทางบินในอากาศ ผู้ทำการบินจะสามารถระบุตำแหน่งของตัวเองได้จากเครื่องช่วยเดินอากาศ (Air Navigation Aids) และทราบได้ว่าขณะนี้ตนเองอยู่ ณ จุดใด และจะไปยังจุดหมายได้อย่างไรซึ่งสิ่งนี้เราเรียกว่า “การเดินอากาศ (Air Navigation)” สมัยเด็กเคยจินตนาการว่าถ้าบินหลงก็บินลงมาต่ำๆดูป้ายวัด ป้ายที่ว่าการอำเภอก็ได้ โตมาป่านนี้ยังเห็นมีเครื่องบินลำไหนทำกันเลย ถ้าจะลงมาต่ำขนาดนั้นส่วนใหญ่จะถือโอกาส Force landing ไปเลย

ทีนี้เรามาดูกันว่าเส้นทางบินในอากาศ ซึ่งถือเป็นถนนที่สมมุติขึ้นมา ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่าง การจะลุกขึ้นมาลากดินสอขีดเส้นแล้วบอกว่านี่คือเส้นทางบิน A คงจะไม่ได้เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเส้นทาง A จะไม่มีความสามารถช่วยในการนำทางหรือเดินอากาศได้ เพราะไม่รู้จะอ้างอิงกับสิ่งใด การสร้างเส้นทางการบินจะอ้างอิงกับเครื่องช่วยเดินอากาศที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดิน

P1_2(VOR)

P1_10(NDB)

โดยทั่วไปก็ตามสนามบินต่างๆละครับ เส้นทางการบินจะถูกสร้างและวางตัวอยู่ระหว่างเครื่องช่วยเดินอากาศสองเครื่อง

P1_3(Airways)

ตัวอย่างเช่น ระหว่างเครื่องช่วยเดินอากาศที่ติดตั้งที่สนามบินดอนเมืองและเครื่องช่วยเดินอากาศอีกตัวที่ติดตั้งที่สนามบินโคราช เส้นที่ลากตรงระหว่างเครื่องช่วยเดินอากาศสองตัวนี้เกิดเป็นเส้นทางการบินชื่อ “W1”

P1_11(Conventinal_flying_route)

ที่เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองกับสนามบินโคราช นี่คือหลักการพื้นฐานของการทางเส้นทางการบินหรือแอร์เวย์ (เราจะพูดถึงการบินสมัยใหม่ สมัยที่เครื่องบินรุ่นใหม่มีเทคโนโลยีการเดินอากาศที่พัฒนามากขึ้น ในภายหลัง) ดังนั้นจากเครื่องช่วยเดินอากาศที่ติดตั้งกระจายอยู่ยังที่ต่างๆลากเส้นเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นใยแมงมุมก็จะเกิดเป็นเส้นทางสมมุติในอากาศขึ้นมากมาย แต่อย่างไรก็ตามทำไมผมยังเกรินทิ้งไว้ว่าการบินตัดตรงอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอไปละ ในบางภูมิประเทศเราไม่สามารถติดตั้งเครื่องช่วยเดินอากาศได้ เช่นบนเทือกเขาหิมาลัย หรือกลางมหาสมุทรที่ห่างไกล (ผมอาจยกตัวอย่างที่สุดโต่งไปเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ) กลางทะเลทรายหรือกลางพื้นที่ของสงคราม อย่าลืมว่าติดตั้งแล้วต้องตามไปดูแลรักษาให้ใช้งานได้ด้วยนะครับ บางพื้นที่อาจจะมีเหตุผลง่ายๆของการไม่มีงบประมาณในการจัดให้มีขึ้นมา ดังนั้นเมื่อไม่มีเครื่องช่วยเดินอากาศก็จะไม่มีเส้นทางการบินเกิดขึ้น สิ่งที่กล่าวมาจึงอาจเป็นเหตุผลง่ายๆว่าการบินไปบางจุดไม่สามารถตัดตรงได้ ต้องบินไปตามเส้นทางการบินที่มีอยู่ซึ่งบางครั้งต้องอ้อมในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า Dogleg

P1_7(Conventinal_flying_route_dogleg)

P1_12(Conventinal_flying_route_dogleg)

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการเดินอากาศขั้นพื้นฐานที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ผมเกรงจริงๆว่าจะมีท่านผู้อ่านอาจแย้งมาว่า ผมเคยนั่งเครื่องบินที่พาผมบินข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรไกลๆได้ ใช่ครับ เทคโนโลยีถูกนำมาพัฒนาระบบนำร่องบนอากาศยาน การบินแบบ Area navigation (RNAV) เป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้ช่วยในการเดินอากาศสำหรับเครื่องบินสมัยใหม่ซึ่งการบินแบบนี้จะสามารถข้ามผ่านข้อจำกัดหลายๆข้อได้ ซึ่งเราจะกล่าวถึงในโอกาศต่อไป

About The Author

mm
พนักงานอำนวยการบินอาวุโส บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

พนักงานอำนวยการบินอาวุโส บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) - FAA Aircraft Dispatcher licensed - ICAO (DCA) Dispatcher licensed - Dispatch Instructor licensed

Related Posts