มีคนพูดกันมากว่าการเดินทางทำให้เรามีโอกาสได้รับความรู้ใหม่ๆ แต่ตัวผมคิดว่านั่นถูกต้องเป็นเพียงส่วนหนึ่ง การเพิ่มพูนความรู้ในมุมมองของผมน่าจะเกิดจากการสังเกต สงสัย ตั้งคำถาม และสุดท้ายค้นหาความจริงเพื่อให้ได้คำตอบขึ้นมา ดังนั้นการเดินทางคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มีโอกาสสังเกตพบสิ่งใหม่ๆนั่นเอง

แต่พูดมาซะเยอะวันนี้เราจะมาคุยเรื่องอะไรกันนะ? สมัยเป็นนักเรียนผมไม่มีโอกาสได้เดินทางโดยเครื่องบินบ่อยนัก แต่ด้วยความที่ชอบมองและสังเกตเครื่องยนต์เจ็ทอันใหญ่โตและน่าทึ่งนั้น ผมไปสะดุดตากับเครื่องหมายเล็กๆที่ถูกพ่นสีขาวเป็นรูปก้นหอย (Spiral) ตรงกลางของใบพัด อันที่จริงไม่ได้มีเพียงรูปก้นหอย ยังมีการทำเป็นรูปอื่นๆอีกหลายแบบจนผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็นภาษไทยว่าอะไรดี ลองดูจากรูปตัวอย่างที่เรามีให้แล้วช่วยกันตั้งชื่อดีมั้ยครับ (รูปภาพเครื่องหมายแบบต่างๆ อธิบายรูป “ไม่มีชื่อเป็นทางการในการใช้เรียกสัญลักษณ์เหล่านี้”)

ผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมามันมีเหตุผลหรือที่มาครับ มันเลยกลายมาเป็นที่มาของคำถามวันนี้ครับว่าเครื่องหมายสีขาว(หรือบางครั้งอาจพบเป็นสีอื่น) ที่ถูกพ่นเป็นรูปต่างๆตรงส่วนใจกลางของใบพัด (engine fan) มีไว้ทำอะไร จุดรูปทรงโค้งมนตรงกลางใบพัด (เครื่องยนต์บางรุ่นเป็นทรงกลวยแหลม) เราเรียกว่าดุมใบพัด หรือหลายคนอาจจะคุ้นมากกว่าถ้าเรียกเป็นภาษอังกฤษว่า Spinner ส่วนนี้จะถูกพ่นสีเป็นสัญลักษณ์ตามที่กล่าว มีโอกาสเหมือนกัน(แต่น้อยมาก) ที่จะพบเห็นเป็นสีพื้นโดยไม่มีการทำเครื่องหมายใดๆ ผมเคยถามผู้รู้ และเคยได้คำตอบแบบไม่มั่นใจนักในเวลานั้น ว่าอาจมีไว้เพื่อไล่นก หรือทำให้นกกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ “ฟังดูดี เชื่อไปแล้วเชียวในเวลาหนึ่ง”

แท้จริงแล้วเครื่องหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อเหตุผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานบนภาคพื้นครับ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานใกล้กับตัวเครื่องบิน อันตรายของการทำงานใกล้กับเครื่องบินเจ็ทคือแรงดูดและแรงเป่าที่เกิดจากการทำงานงานของเครื่องยนต์เจ็ท ดังนั้นในขณะที่เครื่องยนต์เจ็ททำงาน ผู้ที่ทำงานอยู่ในลานจอดจะต้องอยู่ในระยะห่างที่ปลอดภัย เครื่องหมายดังกล่าวจึงมีไว้เพื่อให้ผู้ที่ทำงานใกล้กับตัวเครื่องบินหรือกำลังจะเข้าใกล้ได้สังเกตุเห็นว่า ขณะนั้นเครื่องยนต์ของเครื่องบินทำงานกำลังอยู่หรือไม่ แน่นอนว่าขณะที่เครื่องยนต์เจ็ททำงานจะต้องมีเสียงที่ดังมากจนสามารถบอกได้ถึงการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ในการสภาพการทำงานจริงในลานจอดที่มีเครื่องบินมากมายหลายลำบางครั้งก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นเสียงของเครื่องบินลำใด อีกทั้งโดยปกติแล้วผู้ทำงานในลานจอดจะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเสียงดัง จึงอาจจะเป็นการยากที่จะรับรู้ได้ว่าในขณะนั้นเครื่องยนต์กำลังทำงาน โดยเฉพาะในเวลามืดการสังเกตุการทำงานของเครื่องยนต์จากการหมุนของใบพัดถี่ๆของเครื่องยนต์เจ็ทก็ไม่ง่ายเอาซะเลย

ขณะที่เครื่องบินเจ็ทจอดอยู่และไม่ได้ติดเครื่องยนต์ เราพบเห็นได้บ่อยเช่นกันว่าใบพัด (Engine fan) สามารถหมุนได้เองเนื่องจากกระแสลมที่พัดแรงในบริเวณโดยรอบ เครื่องหมายบางแบบเช่น แบบลายก้นหอย (Spiral) จะสามารถบอกได้แม้จากการสังเกตระยะไกลว่าการหมุนของใบพัดเกิดจากการที่เครื่องยนต์ทำงาน หรือจากการพัดของลม การทำเครื่องหมายรูปเกลียวก้นหอย จะทำเกลียวหมุนเข้าในทิศทางของการหมุนของใบพัด ดังนั้นถ้าการหมุนของใบพัดเป็นการหมุนเข้าตามเกลียวของลายก้นหอยก็เข้าใจได้ว่าเครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่ แต่ถ้าหมุนแบบคลายเกลียวก็จะบอกได้ว่าเป็นการหมุนจากผลของกระแสลมที่พัดบริเวณนั้น ส่วนในเครื่องหมายแบบอื่นๆอาจบอกได้เพียงว่าใบพัดหมุนอยู่หรือไม่ และต้องอาศัยความรู้เพิ่มเติมว่าเครื่องยนต์แบบนั้นๆขณะทำงานใบพัดมีทิศทางการหมุนแบบใด (เครื่องยนต์แต่ละค่ายขณะทำงานใบพัดหมุดในทิศทางต่างกันขึ้นอยู่กับการออกแบบครับ ลองไปสังเกตุกันต่อครับ ว่าเครื่องยนต์ยี่ห้ออะไรหมุนตามเข็มนาฬิกาและค่ายไหนหมุนทวนเข็มบ้าง)

การทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้พบเห็นเฉพาะกับเครื่องบินเจ็ทในยุคปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นได้กับเครื่องบินใบพัด Warbirds ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

0989940

บ้างก็เชื่อว่าใช้ลวงตาคู่ต่อสู้ แต่เหตุผลหลักๆก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานภาคพื้นเช่นกัน (โดยมากเครื่องบินแบบใบพัดจะนิยมใช้วิธีการแต้มหรือทำแถบสีไว้ที่ปลายใบพัดมากกว่า เวลาเครื่องยนต์ทำงานใบพัดหมุนก็จะสังเกตุได้ง่ายเช่นกัน

640_rolls-royce-engine

แล้วที่เคยได้ข้อมูลว่าใช้ไล่นกหรือทำให้นกกลัวละมันคืออะไร? นกตัวเล็กๆที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทางสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเครื่องบิน โดยเฉพาะกับเครื่องยนต์เจ็ท เราไม่โทษนก เพราะถ้าเจ้านกน้อยรู้ว่าอะไรจะเกิดมันก็คงไม่อยากมายุ่งกับเราเช่นกัน ไม่มีการศึกษาถึงเรื่องนี้มากนัก ผลการวิจัยที่มีจากบางมหาวิทยาลัยก็ไม่มีข้อสรุปที่ชี้ชัดหรือมีนัยย์สำคัญเพียงพอ มีสายการบินที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นพยายามศึกษาและออกแบบรูปแบบของเครื่องหมายที่เชื่อว่าสามารถลดสถิติอุบัติเหตุการเกิดการชนนกได้ และทำเครื่องหมายเหล่านั้นให้กับฝูงบินของเค้า

Boeing บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน และ Rolls-Royce บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ ออกมาให้ข้อมูลฟันธงเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานในเรื่องนี้ว่า เครื่องหมายบน Spinner ไม่ได้มีส่วนช่วยหรือลดโอกาสการชนนกเลย (Boeing’s Safety newsletter) เป็นเพียงความเข้าใจผิดเท่านั้น ในความเป็นจริง ขณะที่เครื่องบินเร่งเครื่องเต็มที่เพื่อวิ่งขึ้น ใบพัดหมุนด้วยความเร็วสูงนกที่อยู่ในระยะไกลคงไม่สามารถมองเห็นสัญลักษณ์ใดๆบน Spinner ได้ และหากนกจะเห็นได้เมื่อเครื่องบินเคลื่อนที่เข้าใกล้ด้วยความเร็วสูงมันก็คงจะตกใจจริงๆแต่ก็คงไม่มีเวลาพอให้มันสามารถบินหลบได้ ขอโทษนะเจ้านกน้อย