ในที่สุด “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็ต้องพึ่งบริการอดีตแม่ทัพฟ้าโดยสั่งการให้ “บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี และอดีตแม่ทัพฟ้า เป็นประธานประชุมแก้ปัญหากรณีนักบินพาณิชย์ขาดแคลนเร่งด่วน เริ่มนัดแรกเมื่อ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา มี 3 หน่วยงาน “คมนาคม-กรมท่าอากาศยาน-กองทัพอากาศ” เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง

“พล.อ.อ.ประจิน” ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยมีเครื่องบินที่ใช้ด้านการบินพลเรือน 300 ลำ มีนักบินที่พร้อมทำการบิน เป็นกัปตัน 1,376 คนนักบินผู้ช่วย 1,477 คน รวม 2,853 คน ภายในปี 2559 ตัวเลขที่ต้องการสูงสุดอยู่ที่ 2,958 คน

“อัตราเติบโตการบิน ในปี”60 มีสายการบินและเครื่องบินเพิ่ม ทำให้มีความต้องการนักบินถึง 320 คน ต้องเร่งผลิตนักบินให้ได้ไม่ต่ำว่า 310 คนขึ้นไป”

ทั้งนี้ ตำแหน่งขาดแคลนจริง ๆ คือกัปตัน เนื่องจากนักบินผู้ช่วยมีจำนวนมากเพียงพอ หากแก้ปัญหาได้จะทำให้การบินในประเทศไทยมีนักบินที่ 1 และ 2 เพียงพอในระยะสั้น-ระยะกลาง และจะต้องฝึกอบรมให้ขึ้นเป็นกัปตัน โดยมีเที่ยวบินสะสม 1,500-4,500 ชั่วโมง ซึ่งสายการบินของไทยใช้เวลา 10 ปี เทียบกับสายการบินอื่น ๆ ใช้เวลา 5-6 ปี

“การฝึกนักบิน 1 คน เริ่มต้นจากการคัดสรรบุคลากร ตรวจสอบสุขภาพ กายภาพ ให้ผ่านเกณฑ์ มีคลาส 1 และ 2 กำลังพิจารณาว่าจะปรับในส่วนของนักศึกษาที่เรียนในวิทยาลัยการบินให้เป็นคลาส 2 เหมือนเดิมดีไหม หรือส่วนที่จบปริญญาตรีแล้ว สามารถทดสอบได้เลย แต่จะยากกว่าปกติ ใช้เวลาเรียน 1 ปี ค่าใช้จ่าย 2-2.5 ล้านบาทต่อคน”

ปัจจุบันมีเปิดเรียนหลายหน่วย อาทิ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วิทยาลัยการบินนครพนม เป็นต้น ใน 1 ปีผลิตนักบินได้ 300-400 คน หลังเรียนจบหลักสูตร 1 ปีแล้ว จะเริ่มฝึกบินเฉพาะแบบ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแอร์บัส และโบอิ้ง ประมาณ 6 เดือน ถึงจะขึ้นเป็นผู้ช่วยนักบินและกัปตันต่อไป

“ที่ประชุมมีข้อหารือเรื่องการให้สิทธินักบินอายุ 60-65 ปีที่มีร่างกายแข็งแรงมาเข้าสู่ระบบการบินได้ ภายใต้มาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO สำหรับสายการบินสาธารณะ จากเดิมจำกัดอายุนักบินไม่เกิน 60 ปี จะได้ข้อสรุปหลังสงกรานต์ เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบว่าจะให้สายการบิน โดยเฉพาะสายการบินของรัฐวิสาหกิจจ้างนักบินอายุ 60 ปีได้โดยตรง มาช่วยงาน 1 ปีหรือมากกว่านั้น ไม่ต้องผ่านบริษัทตัวแทน หรือเอาต์ซอร์ซ”

นอกจากนักบินแล้ว ด้านครูฝึกสอนการบินก็ขาดแคลนเช่นกัน ทาง สบพ.มีครูฝึก 14 คนแผนภายใน 5 ปีเพิ่ม 2 เท่าอีก 14 คน รวม 28 คน เช่นเดียวกับวิทยาลัยการบินนครพนมมีครูฝึก 14 คน ต้องการเพิ่มอีก 2 คนภายในปีนี้ แล้วเพิ่มต่อในปีหน้าในจำนวนที่ต้องการ

“จะเร่งเพิ่มครูการบิน ทั้งของรัฐและพลเรือน อีกทั้งการจัดหาอุปกรณ์การเรียนเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน พื้นที่การบิน เครื่องบิน การจำลองการบิน อุปกรณ์ภาควิชาการ ในการประชุม พ.ค.นี้จะมีความชัดเจนขึ้น”

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ ภาวะสมองไหล หรือการโยกย้ายนักบินข้ามองค์กร แนวทางแก้ไขต้องหาบุคลากรที่อยู่ในประเทศก่อน หากไม่มีคงต้องเปิดโอกาสให้นักบินต่างชาติเข้ามา แต่ต้องใช้เวลา 3 เดือนตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบด้านการข่าว ข้อมูลบุคคล และใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทางสายการบินอยากให้ปรับลดระยะเวลา ทางกระทรวงคมนาคมรับไปตรวจสอบหาทางแก้ไข รวมทั้งกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องไปดูรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้วย

นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของ “พล.อ.อ.ประจิน” ที่ได้หวนคืนมาแก้ปัญหาน่านฟ้าไทยอีกครั้ง หลังจากพยายามมาแล้วเมื่อครั้งนั่งเป็น รมว.คมนาคม