อยากเป็นนักบิน ต้องเรียนอะไรที่ไหน ?

เห็นน้องๆชั้นมัธยมตั้งกระทู้ถามกันในเว็บยอดนิยมหลายเว็บ ว่าอยากเป็นนักบิน ต้องวางแผนการเรียนอย่างไร หรือ น้องๆนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็อาจอยากรู้ว่า ที่เรียนสาขาวิชาที่ไม่เกี่ยวกับการบินเลยแต่ต้องการเป็นนักบิน จะมีหนทางหรือเปล่า ต้องทำอย่างไรจึงจะก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ได้ พี่หนิงก็ขอสรุปให้น้องๆเห็นเส้นทางที่ชัดเจนขึ้นดังนี้นะคะ

เส้นทางสายแรกคือเส้นทางสายทหารอากาศค่ะ น้องที่เรียนจบชั้น ม.3 ก็สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพอากาศ โดยเรียนที่ รร.เตรียมทหาร 3 ปี พอจบจึงเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนายเรืออากาศ อีก 4 ปี แล้วสอบคัดเลือกเป็นศิษย์การบินของกองทัพอากาศ แต่ไม่ได้หมายความว่าจบโรงเรียนนายเรืออากาศแล้วจะได้เป็นนักบินทุกคนนะคะ ต้องได้รับการคัดเลือก สอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย และสอบความถนัดด้านการบินก่อน คนที่มีคุณสมบัติผ่านการคัดเลือกก็จะได้เป็นศิษย์การบิน เข้าเรียนที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน จ.นครปฐม อีก 1 ปี แล้วก็บรรจุเข้าเป็นนักบินกองทัพอากาศ เบ็ดเสร็จต้องเรียนกันถึง 8 ปี แต่ว่าเรียนฟรี กองทัพอากาศออกค่าใช้จ่ายให้ตลอดหลักสูตร เพื่อสร้างนักบินมืออาชีพและฝึกฝนระเบียบวินัย ความอดทนแข็งแกร่งแบบทหาร เพื่อรับใช้ชาติด้วย เส้นทางนี้่จึงเหมาะกับคนที่อยากเป็นทหารอากาศ หากจะเรียนไปเพื่อไปสมัครเป็นนักบินพาณิชย์ก็จะต้องรับราชการใช้ทุนกองทัพอากาศก่อนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

เส้นทางสายที่ 2 คือ หน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ ตั้งอยู่ที่ฝูงบิน 604 กองบิน 6 ที่ดอนเมือง คนในแวดวงการบินจะรู้จักชื่อฝูงบินนี้ว่า Sunny 604 (พี่หนิงเองก็เป็นศิษย์การบินที่นี่แหละค่ะ เป็น Sunny รุ่นที่ 69ค่ะ) วัตถุประสงค์ของที่นี่เขารับบุคคลภายนอกเข้าฝึกบินเพื่อเป็นนักบินสำรอง เพื่อรับใช้ชาติยามเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมถึงบุคคลภายนอกที่ชอบการบิน หรืออยากฝึกบินเป็นกีฬาหรืองานอดิเรก แต่ด้วยการเปิดกว้างเรื่องอายุ ก็เลยมีผู้ใหญ่มาเรียนกันมาก ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักธุรกิจ มีหมด มาเติมความฝันในวัยหนุ่มที่อยากเป็นนักบินแต่ไม่ได้เป็น เรียนที่นี่จบแล้วก็ไปขอสอบใบอนุญาตนักบินส่วนบุคคล (PPL) มีเงินก็ซื้อเครื่องบินเล็กส่วนตัวขับได้แต่ไปเป็นนักบินพาณิชย์ไม่ได้ แต่ถึงอย่างไร เส้นทางสายนี้ก็มีน้องๆนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ที่มาเรียนบินกับฝูง 604 เพื่อเป็นใบเบิกทางก่อนจะเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมในขั้นสูงต่อไป แล้วไปสอบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี (CPL) เพื่อไปเป็นนักบินอาชีพได้ด้วยเหมือนกัน แต่ปีหนึ่งเขารับเพียง 35 คนเท่านั้น และใช้ทุนส่วนตัวเรียน เป็นเงินเกือบ 300,000 บาทตลอดหลักสูตรประมาณ 1 ปีค่ะ

เส้นทางสายที่ 3 ไปเรียนที่สถาบันการบินพลเรือนโดยตรง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม หรือสถาบันการบินอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การสากล และได้รับการรับรองจากสายการบินที่น้องตั้งเป้าหมายว่าจะไปสมัครด้วย โดยเข้าไปศึกษาในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี-เครื่องบิน ( Commercial Pilot License -Aeroplane หรือ CPL) สอบเข้าแล้วก็เรียน 1 ปี จบแล้วได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันการบินพลเรือนซึ่งรับรองโดยรัฐบาลไทย และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี แล้วก็ไปสมัครงานกับสายการบินที่น้องต้องการต่อไป หากได้รับคัดเลือกเข้าไปแล้ว ก็ต้องเข้าไปฝึกฝนอบรมกับสายการบินนั้นๆเพื่อรอการบรรจุลงตำแหน่งตามโครงสร้างของเขาต่อไป โดยนอกจากสถาบันการบินพลเรือนแล้ว ก็มีสถาบันอื่นๆ เช่น BANGKOK AVIATION CENTER (BAC) , ROYAL SKY AVIATION CENTER หรือมุ่งเรียนระดับปริญญาตรีวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม และสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ด้วยค่ะ สถาบันเหล่านี้น้องๆสามารถหาข้อมูลหลักสูตรและค่าเล่าเรียนได้โดยตรงเบื้องต้นก็มีหลักสูตรที่ค่าเรียนหลักแสนไปจนถึงหลัก1-2 ล้านบาท แล้วแต่เป้าหมายและทุนทรัพย์ของน้องๆค่ะ

เส้นทางสายที่ 4 สมัครเข้าเป็นนักบินฝึกหัดของการบินไทย หรือ สายการบินที่มีโครงการเปิดรับสมัครนักบินฝึกหัดทุน เช่น บางกอกแอร์เวยส์ หรือ ไทยแอร์เอเชีย เป็นต้น เส้นทางสายนี้น้องๆต้องตรวจสอบกับสายการบินอีกครั้งว่าต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เท่าที่ทราบคือเรียนจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ แต่ต้องผ่านการทดสอบคัดเลือกตามเกณฑ์ของเขา ส่วนการบินไทยเคยได้ยินว่ามีโครงการรับนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 9 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ม.มหิดล และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้สมัครเข้าเป็นนักบินฝึกหัด เมื่อเรียนจบก็เข้าเป็นศิษย์การบินทุนการบินไทยได้ทันที เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างบุคลากรเข้าสู่อาชีพนักบินที่กำลังขาดแคลนด้วย น้องๆต้องคอยติดตามข่าวทุนสายการบินเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เวลาเขาประกาศจะได้รีบสมัคร

และเส้นทางสายที่ 5 คือการไปเรียนต่อสถาบันที่สอนการบินในต่างประเทศ แต่แน่นอนว่าต้องใช้เงินเยอะกว่าเรียนการบินในประเทศอย่างแน่นอน และยังต้องหาข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองจากองค์กรการบินสากลและสายการบินที่เราจะสมัครหรือไม่

พี่หนิงก็หวังว่าน้องๆที่มีฝันอยากเป็นนักบินคงเห็นภาพชัดขึ้นแล้วนะคะว่าจะวางแผนเดินไปในเส้นทางใดได้บ้างจึงจะสามารถตามฝันของเราได้สำเร็จ ขอให้ทุกคนโชคดีและสมหวังนะคะ!