บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดพิธีต้อนรับเครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner ลำแรกของการบินไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner เป็นเครื่องบินขนาดกลางที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถทำการบินระยะไกลและประหยัดเชื้อเพลิงเครื่องบินได้รับการออกแบบอย่างทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสารด้วยห้องโดยสารที่กว้างขวางโดยเฉพาะหน้าต่างที่สามารถปรับความทึบแสงหรือโปร่งแสงได้ตามต้องการ

นางเพชรพริ้ง สารสิน ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยได้จัดหาเครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner รวมจำนวน 6 ลำ สำหรับทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงบินด้วยการจัดหาเครื่องบินใหม่ ทดแทนการปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมานาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนทำการบินในเส้นทางที่มีความต้องการสูง โดยในวันนี้ เครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner ลำแรกของการบินไทย นามพระราชทาน “องครักษ์” ทะเบียน HS-TQA เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เวลา 15.20 น. ด้วยเที่ยวบินพิเศษที่ TG 8921 โดยมีกัปตันพงษ์ธร เทพกาญจนา ผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบและพัฒนาการบิน และกัปตัน กิตติวัจน์ มงคลพฤฒางกูร ปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 พร้อมด้วยนักบิน ปิยวัตร อิ่มเนตร์ และนักบิน ชวนัส ประดิษฐ์ พัฒนชาญ ปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 2 ซึ่งมีผู้โดยสารในเที่ยวบินพิเศษ ประกอบด้วยเรืออากาศโทเฉลิมพล อินทรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน และเรืออากาศเอก ยุทธสิทธิ์ สุวรรณลอย ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนงานซ่อมบำรุงอากาศยาน การบินไทย นักบินจากบริษัทโบอิ้ง พร้อมด้วยพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่รับมอบเครื่องบิน

สำหรับเครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner ลำแรกของการบินไทย จะนำมาให้บริการในเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ โดยเริ่มทำการบินในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 และเมื่อได้รับ ลำที่ 2 แล้วการบินไทยจะนำทั้ง 2 ลำมาให้บริการในเส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – เพิร์ธ และเส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – ฮาเนดะ โดยจะเริ่มทำการบินประมาณเดือนกันยายน 2557 หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2557 จะนำลำที่ 3 มาทำการบินเพิ่มในเส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – นาริตะ เส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – กัวลาลัมเปอร์ และเส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – ฮานอย ส่วนลำที่ 4 จะนำมาให้บริการเพิ่มในเส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – นาโกย่า ในเดือนธันวาคม 2557 สำหรับอีก 2 ลำ มีกำหนดรับมอบประมาณกลางปี 2558

เครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ประกอบกับโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบามาใช้ในการประกอบลำตัวและปีกเครื่องบิน พร้อมด้วยเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องนำมวลอากาศจากเครื่องยนต์ มาใช้ในระบบปรับอากาศและระบบนิวเมติกส์ ทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และทำให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังทำให้บริเวณรอบเขตสนามบินและชุมชนรอบสนามบินเกิดเสียงดังรบกวนน้อยลงอีกด้วย รวมถึงผู้โดยสารบนเครื่องบินไม่ได้ยินเสียงรบกวนในห้องโดยสารเช่นกัน นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีการกรองอากาศในการทำความสะอาดอากาศภายในห้องโดยสารเครื่องบิน เพื่อช่วยลดความแห้งกร้านระหว่างเที่ยวบิน และสร้างความชื้นภายในห้องโดยสารมากขึ้นเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสบายมากที่สุด อีกทั้งการปรับแต่งระบบการควบคุม สามารถบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้โดยสารมีอาการวิงเวียนคลื่นไส้น้อยลง อีกทั้งยังมีการตรวจสอบแรงกดอากาศภายในห้องโดยสารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้เป็นเที่ยวบินที่ผู้โดยสารสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ตลอดการเดินทาง

เครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner ของการบินไทย นับเป็นเครื่องบินที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงผู้โดยสารอย่างแท้จริง ตั้งแต่การออกแบบที่นั่ง โดยแบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 24 ที่นั่งและชั้นประหยัด 240 ที่นั่ง การเลือกใช้วัสดุสำหรับเบาะที่นั่ง การจัดพื้นที่สำหรับการวางขา ห้องน้ำที่มาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไปจนถึงไฟ LED แบบไดนามิกและมุมมองจากช่องหน้าต่างที่กว้างขึ้นถึงร้อยละ 65 ผู้โดยสารจะได้รับประสบการณ์การบินที่ประทับใจ ในการบินด้วยเครื่องบิน Boeing 787-8 Dreamliner ของการบินไทย

หากย้อนเวลากลับไปสู่การก่อกำเนิดของเครื่องบินล้ำอนาคตรุ่นนี้ โครงการเครื่องบินโดยสารที่จะสามารถต่อกรกับบริษัท Airbus ของยูโรปนั้นเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของสองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งโลกของการบินที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 70 ปีอย่าง Boeing และ Douglas Aircraft Company ความพยายามในการแข่งขันบนโลกธุรกิจการบินพลเรือน ก่อกำเนิดอากาศยานที่ใช้ในการเดินทางที่ทันสมัยที่สุดในยุคนี้ อากาศยานลำดังกล่าวนั้นคือ Boeing 787 Dreamliner เครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ล่าสุดที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า
ในปี 2010 Boeing 787 Dreamliner มีรุ่นที่จะทำการผลิตเพื่อส่งมอบให้กับสายการบินที่ทำการจองไว้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ 787 ในปี 2006 ถึงสามรุ่นด้วยกันคือ

Boeing 787-8 ออกแบบให้บรรทุกผู้โดยสารได้ 210-250 คน พิสัยการบิน 14800-15700 กิโลเมตร ยาว 57 เมตร กว้าง 60 เมตร
Boeing 787-9 บรรทุกผู้โดยสารได้ 250-290 คน พิสัยการบิน 15900-16300 กิโลเมตร ยาว 63 เมตร กว้าง 60 เมตร และรุ่น
Boeing 787-3 บรรทุกผู้โดยสารได้ 290-330 คน พิสัยการบิน 5550-6500 กิโลเมตร ยาว 57 เมตร กว้าง 52 เมตร

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาของวงการการบินพลเรือนมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสนามบินขนาดใหญ่ทั่วโลก เพื่อรองรับจำนวนของผู้เดินทางที่เพิ่มขึ้นทุกปี การเติบโตของสายการบินที่มีจำนวนของเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทั้ง Airbus และ Boeing ต่างก็เร่งคิดค้นและสร้างเครื่องบินโดยสาร ที่สามารถบินเดินทางได้ในระยะไกล บรรทุกผู้โดยสาร ตลอดจนสัมภาระจำนวนมากได้ และมีความประหยัดในการใช้เชื้อเพลิง รวมไปถึงความรวดเร็วและสะดวกสบายในการเดินทางบนอากาศ บริษัท Airbus ก้าวไปก่อนโดยทำการออกแบบและผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดยักษ์รุ่น A380 ที่สามารถขนผู้โดยสารได้ถึงเที่ยวละ 650 คน ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาด ในการขายเครื่องบินรุ่นใหม่ของบริษัท Boeing ถูกแย่งไปอย่างมาก และด้วยความหลากหลายของเครื่องบินโดยสารที่ผลิตจากบริษัท Airbus ที่มีรุ่นต่างๆ ให้สายการบินทั่วโลกได้หาซื้อมาเข้าประจำการเพื่อเปิดเส้นทางการบินทั่วโลกทั้งระยะสั้นและระยะไกลเช่น A320, A330, A340 และเจ้ายักษ์ใหญ่บนท้องฟ้าอย่าง A380 เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา รวมไปถึงรุ่น A350 ทำให้บริษัท Boeing ไม่อาจอยู่เฉยได้อีกต่อไป

ในระหว่างที่ Airbus สร้างซุปเปอร์จัมโบ้เจ็ตด้วยเครื่อง A380 บริษัท Boeing ได้ทำการวางแผนรับมือด้วยการพัฒนาและดัดแปลงเครื่อง Boeing 747 ที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยยิ่งขึ้นแต่ก็มาล้มเลิกโครงการนี้ไป เนื่องจากสาเหตุหลายประการที่เป็นตัวแปล ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ถูก Airbus แย่งเอาไปจนหมด จุดกำเนิดของเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner จึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อแบ่งสัดส่วนของตลาดเครื่องบินโดยสารยุคใหม่กับ Airbus

วิวัฒนาการของ Boeing 787 Dreamliner เป็นการผสมผสานกันระหว่างความร่วมมือของ Boeing และ Douglas Aircraft Company ทั้งสองบริษัทมีประสบการณ์และประวัติศาสตร์ในการออกแบบและสร้างเครื่องบินมาอย่างยาวนาน เครื่อง 787 Dreamliner ต้องมีจุดขายที่สำคัญ เพื่อให้บรรดาสายการบินลูกค้าที่มีเครื่องบินของ Boeing บินให้บริการอยู่แล้วเกิดความประทับใจเช่น ประสิทธิภาพความประหยัดและคุ้มทุน 787 Dreamliner มีพิสัยการบิน (ระยะทางของการบินเดินทาง) ได้ไกลกว่าเครื่อง Boeing 767 ถึง 2500 น็อตติเคิล ไมล์ และประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ 20 ลดค่าบำรุงรักษาไปได้ถึงร้อยละ 30 สามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าเครื่อง Boeing 767 แบบเก่าถึงร้อยละ 45 และมีอัตราส่วนค่าดำเนินการต่อที่นั่งระหว่างเครื่อง 787 Dreamliner และ Airbus A380 ที่เท่าๆ กันทำให้เครื่อง Airbus A380 ที่มีขนาดใหญ่กว่า มีค่าดำเนินการที่มากกว่า 787 Dreamliner ถึงสองเท่า แต่ในการพัฒนาและสร้างเครื่องบินรุ่นนี้ของ Boeing ไม่มีเป้าหมายที่จะให้มันมาเป็นคู่แข่งโดยตรงของเครื่องบิน Airbus A380 เนื่องจากเครื่องบิน Boeing 787 มีขนาดที่เล็กกว่า แต่จากการที่เครื่องบินทั้งสองรุ่นนี้ได้ทำการเปิดตัวในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก คงจะเป็นการยากที่จะห้ามไม่ให้มีการเปรียบเทียบกันของเครื่องบินทั้งสองรุ่น จากสองค่าย และการตอบโต้ของ Airbus ก็เริ่มต้นขึ้นทันทีโดยกำหนดการผลิตเครื่องบินที่มีลักษณะและประสิทธิภาพ ใกล้เคียงกันกับเครื่อง 787 Dreamliner โดยใช้ชื่อรุ่นว่า A350 XWB

อากาศยานโดยสารรุ่นใหม่ๆ ล้วนมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งและมีน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบินเดินทางและประหยัดเชื้อเพลิง ทำให้ 787 Dreamliner จำเป็นต้องใช้วัสดุผสมประเภทกราไฟท์ถึง 45% บริษัท Boeing มีทีมวิศวกรการบินที่มีประสบการณ์ทำให้สามารถคำนวณความแข็งแกร่งของวัสดุประเภทต่างๆ ที่เคยใช้งานในการประกอบเป็นเครื่องบินพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ปีกของเครื่อง Boeing 787 Dreamliner ถูกขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด โดยไร้รอยต่อและหมุดยึดต่างๆ อย่างสิ้นเชิง นอกจากปีกแบบชิ้นเดียวของมันแล้ว ยังมีชิ้นส่วนต่างๆ อีกหลายชิ้นที่ใช้วัสดุผสมด้วยเช่นกันคือ ผิวลำตัว ผิวของส่วนควบคุมปีกและหาง ทำให้ 787 Dreamliner มีน้ำหนักที่เบาขึ้นมาก และสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้อีก 53 คนจากน้ำหนักของตัวเครื่องที่ลดลง วัสดุประเภท คาร์บอนคอมโพสิตและกราไฟท์ที่นำมาใช้ใน Boeing 787-8 Dreamliner มีความคงทนต่อการกัดกร่อนได้ดีกว่าอะลูมิเนียม และมีค่ากลไกทางกลศาสตร์ที่สามารถทนทานต่อแรงที่มากระทำได้ดีกว่าอะลูมิเนียมมาก ทำให้ค่าการบำรุงรักษาของ 787 Dreamliner ลดลงมากกว่าเครื่องบินชนิดอื่นในขนาดที่เท่าๆ กัน

การประกอบเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner ขึ้นใหม่ทั้งลำใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดในการประกอบขึ้นเป็นตัวเครื่อง บริษัท Boeing จึงทำการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ที่ผลิตชิ้นส่วนและระบบเอวิโอนิคที่เกี่ยวข้องกับการบิน ทำการออกแบบและเสนอราคา หลังจากได้บริษัทย่อยที่สามารถผลิตชิ้นส่วนได้ตามที่ Boeing กำหนดแล้ว จึงนำชิ้นส่วนดังกล่าวทั้งหมด มาประกอบยังโรงงานของ Boeing ในมลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และนับเป็นก้าวแรกของบริษัท Boeing ที่ได้สร้างพันธมิตรทางอุตสาหกรรมกับบริษัทขนาดเล็ก ที่ผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินทั่วโลก นับได้ว่าการสร้างเครื่อง Boeing 787 Dreamliner เป็นการร่วมมือกันในระดับนานาชาติซึ่งคล้ายกับการสร้างเครื่องบินของ Airbus A380 ที่มีการร่วมมือกันโดยบริษัทการบินจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป

แนวความคิดในการร่วมมือกันสร้างเครื่องบินโดยสารที่ทันสมัยและพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการการบิน เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของ Boeing และ Alenia Aeronautica จากอิตาลี Fuji Heavy Industries, Kawasaki, Mitsubishi Heavy Industries จากญี่ปุ่น Hawker De Havilland จากออสเตรเลีย Vought Aircraft และ Boeing Wichita Division จากสหรัฐอเมริกา ระบบอิเล็กทรอนิกส์เอวิโอนิคทางการบิน เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบในการออกแบบระบบต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner เช่นระบบจอภาพ ระบบติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงค็อกพิตของห้องนักบินคือบริษัท Hamilton Sundstrand และ Rockwell Collins การนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบกันเป็น Boeing 787 Dreamliner มีความยุ่งยากอยู่พอสมควรเนื่องจากโครงสร้างหลักบางชิ้น ต้องเดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ Boeing ต้องทำการนำชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นใกล้เคียงกับโรงงานในมลรัฐวอชิงตันมาประกอบไปพลางก่อน และสุดท้ายจึงจะนำชิ้นส่วนลำตัวขนาดใหญ่มาประกอบกันขึ้นเป็นเครื่อง 787 Dreamliner ซึ่งบางชิ้นมีน้ำหนักมากกว่า 70,000 กิโลกรัม จึงต้องทำการดัดแปลงเครื่องบิน Boeing 747 Large Cargo Freighter โดยการขยายลำตัวและเพิ่มพื้นที่ในการบรรทุกให้มากขึ้น เพื่อนำชิ้นส่วนขนาดยักษ์ดังกล่าว ใส่ลงไปและบินตรงมายังโรงงานของ Boeing เพื่อประหยัดเวลาในการขนส่งมากกว่าการนำชิ้นส่วนขนาดใหญ่ดังกล่าวบรรทุกมาทางเรือ

Boeing 787 Dreamliner ติดตั้งเครื่องยนต์แบบเทอร์โบแฟน 2 เครื่องโดยถูกกำหนดให้มีสมรรถนะในการบินเดินทางรวดเร็วขึ้น มีพิสัยบินไกลขึ้นกว่าเดิม และต้องทำให้เสียงเครื่องยนต์ที่จะไปกระทบจนทำให้เกิดมลพิษทางเสียงบริเวณสนามบินให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการเผาไหม้ที่สะอาดและพยายามให้มีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลดลง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องบินโดยสารแบบอื่นในยุคปัจจุบัน หลังจากการคำนวณสมรรถนะที่แท้จริงของเครื่องยนต์ทำให้ Boeing กำหนดแรงขับดันของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระหว่าง 55,000-70,000 ปอนด์ ในที่สุดก็ได้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดจากบริษัท GE (General Electric) และ Rolls-Royce โดยทั้งสองบริษัทนี้จะทำการผลิตและติดตั้งเครื่องยนต์ให้กับเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner

General Electric GEnx
เครื่องยนต์ รุ่นใหม่ล่าสุดของ GE ที่นำมาติดตั้งให้กับ Boeing 787 Dreamliner คือเครื่องยนต์รุ่น GEnx ที่มีการนำเอาวัสดุผสมแบบคอมโพสิตมาปรับใช้ในชุดใบพัดและตัวครอบชุดใบพัดที่ทำมาจากเส้นใยคาร์บอนและอีพ็อกซี่เรซิน ทำให้มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงทนทานสูงมาก โดยเครื่องรุ่นนี้นอกจากจะได้รับการติดตั้งใน Boeing 787 Dreamliner แล้วเครื่องยนต์รุ่น GEnx ยังถูกนำไปติดตั้งให้กับเครื่องบิน Boeing 747 Advanced และเครื่องบินคู่แข่งแบบ A350 รุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท Airbus อีกด้วย จุดเด่นของเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนตัวนี้อยู่ที่ชุดใบพัดที่มีความกว้างมาก ขึ้นและผลิตจากวัสดุประกอบโดยมีชายหน้าปีกของใบพัดทำมาจากไททาเนียม กลีบใบทั้งหมด 18 ใบเพื่อปรับลักษณะของการไหลอากาศให้มีประสิทธิภาพ ลดทอนน้ำหนักของตัวเครื่องยนต์ลง และมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะทนทานต่อวัสดุขนาดเล็กที่หลุดรอดเข้าไป ขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน รวมไปถึงชุดอัดอากาศ (Compressor) ที่สมารถอัดอากาศได้สูงถึง 23 เท่า เมื่อเทียบกับความดันของบรรยากาศปกติ ชุดห้องเผาไหม้แบบใหม่ Twin Annular Premixing Swirler ที่มาจากนวัตกรรมของ CFM Internationals Tech 56 Programe โดยได้รับความร่วมมือจากวิศวกรของบริษัท General Electric และบริษัท Snecma จากฝรั่งเศส ทำให้การผสมเชื้อเพลิงกับอากาศได้ดีเนื่องจากอากาศที่ถูกหล่อเย็นสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการสันดาปและลดมลพิษจากก๊าซ NOx ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ลงได้ในระดับที่ดีมาก
Rolls-Royce Trent 1000
เครื่องยนต์ รุ่นใหม่ที่ผลิตจากบริษัทที่มีความเกี่ยวพันกับอากาศยานมายาวนานอย่าง Rolls-Royce ถูกพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นจากเครื่องยนต์รุ่น Trent 900 ที่เป็นเครื่องยนต์ของเครื่องบินขนาดยักษ์แบบ A380 ของ Airbus ชุดใบพัดของเครื่อง Trent 1000 ทำจากไททาเนียม โดยทำการออกแบบกลีบใบพัดให้มีขนาดใหญ่คล้ายกับใบพัดของเครื่อง GEnx เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนในยุคปัจุบันของ Rolls-Royce ถูกปรับปรุงให้มีชุดแกนหมุนถึงสามชุด จุดเด่นของเครื่อง Trent 1000 คือระบบผลิตกระแสไฟฟ้าของเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner สามารถที่จะติดตั้งไว้กับกังหันต้นกำลังความดันระดับกลาง (Intermediate-Pressure Turbine) เพื่อลดภาระการทำงานของกังหันต้นกำลังความดันสูง (Hige-Perssure Turbine) ที่วิศวกรของ Rolls-Royce ต้องการให้การหมุนของกังหันต้นกำลังความดันสูงตัวนี้มีความเสถียรสูง สามารถเพิ่มความเร็วรอบเครื่องยนต์ได้มากขึ้น และติดตั้งชุดตรวจสอบหลายตำแหน่งเพื่อเพิ่มการตรวจสอบสภาพของตัวเครื่องยนต์ หลังจากใช้งานทำให้การบำรุงรักษาง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อทำการประมาณราคาในการบำรุงรักษาชิ้นส่วนของเครื่องยนต์
ความก้าวหน้าทางวิทยาการในยุคปัจจุบันนี้ ที่ได้นำมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ยุคใหม่ จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และการรวบรวมความรู้อันหลากหลายของวิศวกรการบิน มาผสมผสานกันจนเกิดเป็นเครื่องบินโดยสารที่มีความสมบูรณ์แบบ และสามารถทำให้ความฝันของมนุษยชาติในการที่จะติดปีกและโบยบินขึ้นไปในอากาศเป็นความจริงขึ้นมาได้ การจะสร้างเครื่องบินแบบ Boeing 787 Dreamliner ต้องอาศัยประสบการณ์และเวลา ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ ของการบินมาปรับปรุงแก้ไขให้มีข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด และตราบใดที่เรายังคงมีความฝันอันสวยงามเกี่ยวกับการติดปีกโบยบินขึ้นไปในห้วงอากาศ บนท้องฟ้าสีครามก็ยังจะมีเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ทำการบินให้เราได้พบเห็นตลอดไป.
เอกสารอ้างอิงจาก The Aerospace Magazine 2006 / The World Aircraft in 2000-2010 /en.wikipedia.org

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom