“บีเอซี” แนะแก้ปัญหานักบินขาดรัฐต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ใช้เป็นคัมภีร์ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องยึดแนวทางปฏิบัติ ด้านประชุมร่วมยกแรกกับ “บิ๊กประจิน” ยังไม่คืบแค่รับทราบข้อมูลเบื้องต้น เหตุไม่รู้ตัวเลขจริงว่าขาดแคลนเท่าไรแถมเจอปัญหาครูฝึกถูกซื้อตัว จี้แอร์ไลน์ต้องแจงแผนรับมอบเครื่องบินและลงทุนผลิตนักบิน

นายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัดหรือบีเอซีเปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางในการแก้ปัญหานักบินขาดแคลนว่า รัฐบาลควรวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและจริงจังโดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ อย่างเป็นรูปแบบและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการฝึกนักบินเกี่ยวกับหน่วยงานอีกหลายองค์กร ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาแต่ละองค์กรต่างเข้าใจและให้การสนับสนุน แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้เพราะไม่รู้จะยึดถือ กฎ ระเบียบใดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แต่ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญและเป็นนโยบายของรัฐที่จะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ก็จะช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าต่างๆ ให้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้สนามบิน ของกรมขนส่งทางอากาศ ที่ไม่มีสายการบินมาใช้บริการเพื่อนำมาใช้ในการฝึกการบินเพื่อให้เกิดประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากหรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการฝึกบิน ของวิทยุการบิน ไม่รู้จะเอากฎข้อไหนเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

รวมถึงการออกวีซ่าให้แก่นักเรียนต่างชาติได้เข้ามาเรียนที่ผ่านมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการตรวจสอบประวัติกันใหม่ ทั้งที่นักเรียนต่างชาติที่เข้ามาเรียนมีวีซ่านักเรียนอยู่แล้ว แต่เมื่อเดินทางกลับประเทศและขอต่อวีซ่า กลับต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น มีการสอบประวัติกันใหม่ ทำให้เสียเวลามาก ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นโดยตรงกับนักเรียนจีน ที่เข้ามาเรียนที่สถาบัน เนื่องจากกงสุลเองก็ไม่รู้จะเอาระเบียบไหนมาอ้างอิง

“แต่ถ้ารัฐส่งเสริมและเป็นวาระแห่งชาติก็สามารถใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดเป็นหลักในทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้” นายปิยะกล่าวและระบุว่า สำหรับการประชุมร่วมครั้งแรกระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหานักบินขาดแคลนเมื่อไม่นานมานี้ ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควรเพราะเหมือนกับเป็นการ ขอความเห็นและข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนมากกว่า โดยมีทั้งสายการบิน สถาบันการศึกษาด้านการบิน เข้าร่วม อาทิ การบินไทย สายการบินบางกอกแอร์ ไทยสมายล์ นกแอร์ สถาบันการบินพลเรือน ฯลฯ

เนื่องจากขณะนี้ข้อมูลการขาดแคลนนักบินที่แท้จริงว่ามีจำนวนเท่าไร และแต่ละสายการบินมีแผนจะรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มมาอีกจำนวนเท่าไรยังไม่นิ่ง ทำให้ไม่สามารถคำนวณถึงความต้องการของนักบินได้ โดยเครื่องบิน 1 ลำต้องใช้นักบิน 14.5 คน (มาตรการการบินไทย) อีกทั้งแนวคิดที่จะนักบินของ กองทัพอากาศ เข้ามาช่วยบินในเบื้องต้นนั้นก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะนักบินของกองทัพอากาศไม่มีไลเซนส์นักบินพาณิชย์ หากจะนำมาบินก็ต้องไปผ่านการฝึกอบรมและสะสมชั่วโมงบินตามกฎหมายกำหนด และเริ่มจากต้องเก็บชั่วโมงบินสะสม เป็นนักบินผู้ช่วย ตามชนิดของเครื่องบิน 4 พันชั่วโมง จึงสามารถสอบเป็นกัปตันได้ และถ้าหากสายการบินแต่ละสายไม่มีแผนจะผลิตนักบินขึ้นมาเองและใช้วิธีการขโมยนักบินจากสายการบินอื่นอยู่แบบนี้ปัญหาก็ไม่จบ ทั้งยังพบว่าขณะนี้ไม่ใช่แต่นักบินเท่านั้นที่ขาดแคลนยังพบว่าครูฝึกนักบินของสถาบันการศึกษาหลายแห่งก็พบว่ามีปัญหาขาดแคลนด้วยเช่นกัน นายปิยะกล่าวในที่สุด

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 – 27 เมษายน พ.ศ. 2559